9 วิธีดูแลรักษาเครื่องปรับอากาศด้วยตัวเอง ยืดอายุการใช้งาน ลดฝุ่นสะสมในเครื่อง

Air conditioning

เครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ ก็เหมือนกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่มีวันเสื่อมสภาพตามการใช้งาน ยิ่งช่วงไหนอากาศร้อนเปิดแอร์ทั้งวันตัวเครื่องก็ยิ่งต้องทำงานหนัก หากไม่ใส่ใจดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ สิ่งที่ตามมาคงหนีไม่พ้นสารพัดปัญหาน่าปวดหัว ทั้งแอร์ไม่เย็น แอร์กินไฟ หรือแอร์น้ำหยด แทนที่จะรอให้ปัญหาเหล่านี้มากวนใจในวันที่ร้อนอบอ้าว บี.กริม เทรดดิ้ง มีเทคนิคดูแลรักษาเครื่องปรับอากาศง่ายๆ ไม่ง้อช่าง สำหรับเป็นแนวทางในการถนอมและยืดอายุการใช้งาน ช่วยประหยัดค่าไฟไปด้วยในตัว หากใช้คู่กับเครื่องฟอกอากาศยิ่งทำให้คุณภาพอากาศดียิ่งขึ้นไปอีก

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจการทำงานและส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศคร่าวๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าแต่ละส่วนทำงานอย่างไรบ้าง

ระบบการทำงานของเครื่องปรับอากาศส่วนมากประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ ได้แก่

1. ส่วนที่อยู่ภายในอาคาร เรียกว่าชุดคอยล์เย็น หรือแฟนคอยล์ยูนิต (Fan coil unit) มีหน้าที่ส่งอากาศเย็นเข้าสู่ภายในอาคาร ประกอบด้วยคอยล์เย็น ใบพัดลมคอยล์เย็น มอเตอร์พัดลม และแผ่นกรองอากาศ
2. ส่วนที่อยู่ภายนอกอาคาร เรียกว่าชุดคอยล์ร้อน หรือคอนเดนซิ่งยูนิต (Condensing unit) หรือที่มักเรียกกันว่าคอมแอร์ ทำหน้าที่ช่วยระบายความร้อนจากเครื่องปรับอากาศออกสู่ภายนอก ประกอบด้วยคอนเดนเซอร์ คอมเพรสเซอร์ พัดลมคอยล์ร้อน มอเตอร์ และแผงไฟฟ้า

ทั้งสองส่วนนี้เชื่อมต่อกันด้วยท่อทองแดงและสายไฟ โดยชุดคอยล์เย็นจะช่วยดูดซับความร้อนภายในห้องและระบายออกทางชุดคอยล์ร้อน จากนั้นอากาศเย็นที่เกิดจากน้ำยาแอร์ที่ผ่านการลดอุณหภูมิและลดความดันด้วยคอมเพรสเซอร์ก็กลายเป็นลมแอร์เย็นเป่าเข้ามาในห้อง

การเลือกขนาด BTU ของแอร์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของห้อง จะช่วยให้แอร์ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน และประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถดูวิธีการเลือก BTU ให้กับห้องของคุณได้ที่ลิ้งค์นี้ค่ะ https://bgrimmtrading.com/carrier_btu_aircondition/

เทคนิคดูแลเครื่องปรับอากาศด้วยตัวเอง
ทุกส่วนของเครื่องปรับอากาศล้วนต้องการการดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ เทคนิคต่อไปนี้เป็นวิธีการดูแลและล้างแอร์บ้านในเบื้องต้นที่ทำได้ด้วยตนเอง เพื่อคงอากาศดีภายในบ้านของคุณในทุกๆ วัน

คำเตือน: เพื่อความปลอดภัยควรปิดสวิตช์หรือดึงเบรกเกอร์ลงทุกครั้งก่อนการถอดทำความสะอาดหรือการดูแลรักษาเครื่องปรับอากาศลักษณะใดก็ตาม ไม่ควรฉีดน้ำเข้าไปยังบริเวณอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในตัวเครื่อง และควรใช้บันใดที่แข็งแรงในการปีนถอดหรือใส่อุปกรณ์ หากไม่มีความชำนาญ แนะนำให้ล้างเฉพาะแผ่นกรองอากาศและพื้นผิวภายนอกเท่านั้น และเรียกใช้บริการช่างแอร์สำหรับล้างส่วนอื่นทุกๆ 6-12 เดือนเพื่อป้องกันความเสียหายของชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าภายใน

1. หมั่นถอดล้างแผ่นกรองอากาศ
แผ่นกรองอากาศหรือฟิลเตอร์แอร์ เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่คอยทำหน้าที่ดักจับฝุ่นละอองในอากาศไม่ให้เข้าไปถึงคอยล์เย็น หากไม่ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอจะเกิดการสะสมอุดตันของฝุ่นและสิ่งสกปรกต่างๆ ส่งผลให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักและไม่เย็นเท่าที่ควร หรืออาจทำให้มีน้ำแข็งเกาะที่คอยล์เย็น และมีน้ำหยดจากตัวเครื่อง

ฟิลเตอร์มีลักษณะเป็นแผ่นตะแกรงที่มักทำจากใยสังเคราะห์และมีโครงเป็นพลาสติก อยู่ใต้บริเวณหน้ากากหรือฝาหน้าของแอร์ โดยเมื่อยกฝาหน้าของเครื่องขึ้นก็จะเจอกับฟิลเตอร์ทันที ทั้งนี้เครื่องปรับอากาศบางรุ่นอาจมีฟิลเตอร์ 2 ชนิด คือฟิลเตอร์แบบหยาบสำหรับกรองฝุ่นขนาดกลาง-ใหญ่ และฟิลเตอร์แบบละเอียดสำหรับกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งแบบหลังจะไม่สามารถถอดออกมาล้างได้และต้องแกะออกจากฟิลเตอร์หยาบก่อนล้างทุกครั้ง การถอดล้างฟิลเตอร์แบบหยาบมีขั้นตอนไม่ซับซ้อน ทำได้ดังนี้

● ถอดฟิลเตอร์ด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย
● ฉีดล้างด้วยน้ำแรงดันปานกลาง และอาจใช้น้ำสบู่พร้อมกับแปรงขนนุ่มขัดเบาๆ เพื่อกำจัดฝุ่น
● ตากให้แห้ง แล้วใส่กลับเข้าตามเดิม

ความถี่ในการถอดล้างฟิลเตอร์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประเภทของฟิลเตอร์ ความถี่ในการเปิดใช้งาน หรือสภาพแวดล้อมทั้งในและนอกบ้าน โดยหากเป็นห้องที่อยู่ติดถนนหรือภายในบ้านมีฝุ่นเยอะ ควรถอดฟิลเตอร์ออกมาล้างอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง แต่หากฝุ่นไม่เยอะหรือไม่ได้ใช้งานบ่อยอาจถอดล้าง 3-4 ครั้งต่อปี

2. ทำความสะอาดแผงคอยล์เย็น
แผงคอยล์เย็น มีลักษณะเป็นท่อที่ขดไปมาตามความยาวของเครื่องปรับอากาศ ซึ่งจะถูกห่อหุ้มไว้ด้วยแผ่นครีบอะลูมิเนียมบางๆ เป็นซี่ถี่ ทำหน้าที่เป็นตัวสร้างความเย็น โดยภายในจะมีสารทำความเย็นไหลเวียนอยู่ ทำงานร่วมกับพัดลมในการรับและส่งลมเย็นเข้าสู่ห้อง

เมื่อถอดหน้ากากของเครื่องออกจะเห็นแผงคอยล์เย็นได้ทันที บางรุ่นอาจอยู่บริเวณใต้ฟิลเตอร์ และจะสังเกตได้ถึงฝุ่นผงขนาดเล็กที่สามารถลอดผ่านฟิลเตอร์เข้ามา ซึ่งเมื่อนานไปจะจับตัวหนาขึ้นจนอากาศไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ ทำให้ประสิทธิภาพของระบบทำความเย็นลดลงได้เช่นเดียวกับปัญหาฟิลเตอร์ตัน

ขั้นตอนการทำความสะอาดแผงคอยล์เย็นมีดังต่อไปนี้

● ใช้แปรงสีฟันลากตามแนวของแผ่นครีบอะลูมิเนียมจนทั่วเพื่อกำจัดฝุ่นที่เกาะอยู่
● จากนั้นใช้น้ำฉีดหรือราดเบาๆ เพื่อให้ฝุ่นออกไปตามน้ำ และต้องระวังไม่ให้น้ำกระเซ็นเปียกส่วนด้านในที่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าของเครื่อง
● หากฝุ่นเกาะตัวเหนียวจนไม่สามารถล้างด้วยน้ำได้ ควรใช้สเปรย์โฟมล้างแอร์สำหรับแผงคอยล์เย็นเพื่อช่วยขจัดคราบให้หลุดได้ง่ายขึ้น โดยฉีดให้ทั่วบริเวณแล้วรอจนแห้ง แล้วฉีดน้ำล้างออก ซึ่งน้ำที่ฉีดล้างจะไหลลงถาดรองรับน้ำทิ้งของเครื่องปรับอากาศไปเอง
● หากครีบอะลูมิเนียมงอหรือโค้งจนปิดกั้นจนลมแอร์ออกมาไม่สะดวกอาจใช้หวีคอยล์ค่อยๆ แปรงดัดให้กลับมาตรงดังเดิม แต่ควรทำอย่างระมัดระวังเพราะบริเวณนี้มีความคม อาจทำให้บาดมือได้

ทั้งนี้ สเปรย์โฟมที่ใช้ต้องเป็นน้ำยาทำความสะอาดที่ระบุให้ใช้กับแผงคอยล์เย็นได้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีสารตกค้างที่เป็นอันตรายและไม่ทำความเสียหายต่อส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ

3. กำจัดฝุ่นบริเวณใบพัดลมคอยล์เย็น
ใบพัดลมคอยล์เย็นหรือ โบลเวอร์ คือบริเวณที่มีลมเย็นออกมา มีลักษณะเป็นช่องๆ เรียงตัวตามแนวยาว ทำหน้าที่ช่วยให้เกิดการไหลเวียนของลม บริเวณนี้มักจะมีฝุ่นผงมาเกาะตัว ส่งผลให้ร่องดักลมของใบพัดอุดตัน ส่งลมเย็นออกไปได้น้อยลง ทำให้ต้องใช้เวลานานขึ้นในการทำความเย็น และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เครื่องปรับอากาศกินไฟมากขึ้น นอกจากนี้ฝุ่นหนาที่จับตัวอาจทำให้ใบพัดมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นและเสียสมดุลจนเกิดเสียงดังขณะเครื่องทำงานได้

● ในเครื่องปรับอากาศบางรุ่นอาจมีแผงกันใบพัดคอยล์เย็น ให้ถอดส่วนนี้ออกก่อน
● ใช้น้ำฉีดชำระฝุ่นบริเวณใบพัดลมคอยล์เย็น
● อาจตามด้วยสเปรย์ล้างแอร์สำหรับใบพัดคอยล์เย็น รอให้โฟมแห้ง แล้วจึงฉีดน้ำล้างอีกที
● น้ำที่ล้างบริเวณนี้จะไหลออกมาจากเครื่องปรับอากาศ เพื่อไม่ให้เลอะเทอะควรใช้ถุงล้างแอร์ครอบบริเวณด้านใต้เพื่อรองรับน้ำที่ล้างด้วย

4. ล้างถาดรองรับน้ำทิ้งและตรวจสอบท่อน้ำทิ้ง
นอกจากแผงคอยล์เย็นและใบพัดลมคอยล์เย็น ถาดรองรับน้ำและท่อน้ำทิ้งก็เป็นอีกส่วนที่ควรได้รับการดูแลไปพร้อมกัน เพราะเป็นบริเวณที่น้ำที่เกิดจากการกลั่นตัวของไอน้ำไหลไปรวมกัน ซึ่งนานวันอาจเกิดเป็นเมือกและเป็นแหล่งสะสมของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนในบ้านได้

วิธีการทำความสะอาดถาดรองรับน้ำสามารถใช้แปรงขนแข็งขัดถูหรือจะถอดออกมาล้างแล้วค่อยใส่กลับเข้าไปตามเดิมก็ได้ ส่วนการทำความสะอาดท่อน้ำทิ้งอาจใช้เครื่องเป่าลมหรือใช้น้ำที่มีแรงดันฉีดเข้าไปภายในท่อ แต่จะทำได้เมื่อมั่นใจว่าไม่มีรอยรั่วตามท่อเท่านั้น และควรตรวจดูว่าท่อมีความโค้งงอซึ่งอาจเป็นจุดสะสมของน้ำหรือสิ่งสกปรกหรือไม่

5. หมั่นเช็ดทำความสะอาดบริเวณโครงเครื่อง หน้ากากรับลม และหน้ากากจ่ายลม
ตัวเครื่องปรับอากาศบริเวณที่เป็นโครงสร้างหรือพื้นผิวภายนอกนั้นควรมีการทำความสะอาดหรือใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดถูเป็นประจำ หรือจะถอดออกมาล้างก็ได้

6. ดูแลบริเวณชุดคอยล์ร้อนอย่าให้มีสิ่งกีดขวาง
ไม่ใช่แค่ชุดคอยล์เย็นเท่านั้นที่ต้องหมั่นดูแล ชุดคอยล์ร้อนที่อยู่บริเวณนอกบ้านเป็นอีกส่วนที่ไม่ควรละเลยเช่นกัน เพราะฝุ่นและสิ่งสกปรกต่างๆ อาจเข้าไปอุดตันหรือขัดขวางช่องทางระบายลมร้อนและส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ทำให้เย็นน้อยลงหรือกินไฟมากกว่าปกติ

สำหรับการดูแลชุดคอยล์ร้อนนั้นควรดูให้พื้นที่โดยรอบสะอาด ไม่มีเศษใบไม้ ขยะ หรือสิ่งกีดขวางทางระบายลมของเครื่อง และสามารถกำจัดฝุ่นที่สะสมตามชุดคอยล์ร้อนด้วยตนเองเบื้องต้นโดยใช้น้ำฉีดล้างตามแนวด้านข้างและด้านหลังในทิศทางเฉียงไปทางพื้น โดยไม่ต้องถอดฝาเครื่อง และห้ามฉีดไปยังภายในบริเวณตัวเครื่องโดยตรงเพราะอาจเปียกแผงไฟฟ้าและเกิดความเสียหายได้

7. เปิดใช้งานเครื่องปรับอากาศเป็นระยะ
แม้จะเป็นช่วงฤดูหนาวที่อากาศไม่ร้อนหรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน ก็ควรคอยเปิดใช้งานเป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่าตัวเครื่องยังทำงานเป็นปกติ และเพื่อป้องกันแมลงหรือสัตว์เล็กเข้าไปทำรัง ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของเครื่องและนำมาซึ่งกลิ่นอับหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้

8. ลดภาระของเครื่องปรับอากาศให้มากที่สุด
ระหว่างเปิดใช้งานควรตรวจสอบหน้าต่างและประตูให้ปิดสนิท และไม่ควรใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้พลังงานความร้อนซึ่งจะส่งผลให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิห้อง เช่น ไมเครเวฟ เตาอบ หม้อหุงข้าว เป็นต้น

9. ตรวจสอบโหมดการตั้งค่าของรีโมท
การตั้งค่าโหมดการทำงานให้เหมาะสมกับอากาศและการใช้งานมีส่วนช่วยถนอมการใช้งานเครื่องปรับอากาศและช่วยประหยัดค่าไฟได้ อาจตั้งโหมดประหยัดพลังงานหรือตั้งเวลาเปิดปิดอัตโนมัติในทุกๆ วัน เพื่อจำกัดช่วงเวลาในการใช้ นอกจากนี้ควรตรวจสอบการทำงานของรีโมทโดยสังเกตจากหน้าจอแสดงผล และควรเก็บให้ห่างจากเด็กและสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันการตั้งค่าที่คลาดเคลื่อน หรือหากไม่ได้ใช้รีโมทเป็นเวลานานก็ควรถอดถ่านออก

การดูแลรักษาเครื่องปรับอากาศเป็นประจำนั้น นอกจากจะช่วยลดการใช้กระแสไฟฟ้าแล้ว ยังส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพอากาศที่ดีภายในบ้าน ให้คุณสูดอากาศสดชื่น ไร้กลิ่นอับ นอนหลับสบายยิ่งขึ้น แถมลดการเกิดภูมิแพ้ได้อีกด้วย

รู้วิธีบำรุงรักษาด้วยตัวเองแบบนี้แล้ว ก็อย่าลืมตรวจล้างแอร์เป็นประจำทุกปีโดยช่างเทคนิคด้วย เพราะยังมีอีกหลายขั้นตอนที่ต้องอาศัยความชำนาญ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง และการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดต่อตัวเครื่อง

ให้แอร์ที่ดีที่สุดของเรา เป็นแอร์ที่ดีที่สุดของคุณ วางใจเมื่อซื้อแอร์แคเรียร์ (Carrier) ที่ บี.กริม เทรดดิ้ง เราพร้อมจำหน่ายสินค้าแอร์ทุกชนิดเช่น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน(Split Type Air Conditioners) เครื่องเป่าลมเย็น และเครื่องส่งลมเย็น (Fan Coil Units (FCU) and Air Handling Units (AHU)) และเครื่องทำน้ำเย็น(Chillers) พร้อมรับบริการซ่อมแซม ตรวจเช็กสภาพ และบริการอื่นๆอย่างครบวงจรจากผู้เชี่ยวชาญของเราได้ทุกเมื่อ

สอบถามข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมได้ที่
https://bgrimmtrading.com/contact-us/
อีเมล: [email protected]
เบอร์โทรศัพท์ : +66 (0) 2710 3242

เรื่องล่าสุด