เซอร์กิตเบรกเกอร์ (CIRCUIT BREAKER) มีกี่ประเภท เลือกใช้งานอย่างไร

ซีเมนส์ เบรกเกอร์
เซอร์กิต เบรกเกอร์

เซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่าเบรกเกอร์ เป็นอุปกรณ์ที่เปรียบเสมือนปราการแรกที่ช่วยป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจร ภัยอันดับหนึ่งที่นำไปสู่ความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน เซอร์กิตเบรกเกอร์จะทำหน้าที่ตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติเมื่อตรวจพบความผิดปกติในวงจรไฟฟ้า ซึ่งมักเกิดจากการโหลดเกินหรือไฟฟ้าลัดวงจร สังเกตได้จากด้ามจับคันโยกที่จะเลื่อนมาที่ตำแหน่ง Trip (อยู่กึ่งกลางระหว่าง ON และ OFF) เมื่อทำการแก้ไขเรียบร้อยก็จะสามารถโยกเลื่อนกลับไปต่อใช้งานได้เช่นเดิมโดยที่ตัวเบรกเกอร์เองไม่ได้รับความเสียหาย

เซอร์กิตเบรกเกอร์ต่างจากคัทเอาท์อย่างไร
ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าเซอร์กิตเบรกเกอร์ถูกนำมาใช้แทนที่คัทเอาท์ (หรือสะพานไฟ) ที่ตัดไฟฟ้าด้วยมือโดยการใช้คันโยก ความยุ่งยากของคัทเอาท์คือเมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจรหรือไฟช็อต เส้นตะกั่วที่เป็นตัวควบคุมจะละลายและขาดออกทำให้ต้องเปลี่ยนทั้งเส้นตะกั่วและกระบอกฟิวส์ก่อนที่จะใช้งานได้อีกครั้ง ดังนั้นบ้านใครยังใช้คัทเอาท์อยู่ก็แนะนำให้เปลี่ยนมาใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์ซึ่งสะดวกกว่ามาก เนื่องจากสามารถตัดวงจรไฟฟ้าแบบอัตโนมัติเมื่อเกิดความผิดปกติในระบบไฟฟ้าและสามารถปิดหรือต่อวงจรได้ทันทีหลังจากแก้ปัญหาความผิดปกติในระบบได้แล้ว ไม่ต้องทำการเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่เหมือนกับคัทเอาท์

เซอร์กิตเบรกเกอร์ มีกี่ขนาด
เซอร์กิตเบรกเกอร์มีหลายแบบ ทั้งขนาดเล็กที่ใช้สำหรับวงจรที่มีกระแสไฟฟ้าต่ำหรือพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน จนถึงสวิตช์ขนาดใหญ่สำหรับวงจรไฟฟ้าแรงสูงที่จ่ายไฟให้ตัวเมือง ถ้าแบ่งตามพิกัดแรงดันจะแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ

  1. เซอร์กิตเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าต่ำ (Low Voltage)
  2. เซอร์กิตเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าปานกลาง (Medium Voltage) 
  3. เซอร์กิตเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าสูง (High Voltage)

บทความนี้เราจะพูดถึงกลุ่ม Low Voltage ซึ่งเป็นแบบที่นิยมใช้กันทั่วไปในบ้านพักอาศัยหรือในเชิงพาณิชย์อุสาหกรรม

เซอร์กิตเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าต่ำ (Low Voltage Circuit Breakers)
เป็นเบรกเกอร์ที่มีแรงดันน้อยกว่า 1,000 V AC นิยมติดตั้งในตู้คอนซูมเมอร์ยูนิต ตู้ DB หรือตู้โหลดเซ็นเตอร์และมักจะติดตั้งในตู้ที่เปิดออกได้ เพื่อถอดและเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องถอดสวิตช์ออก ทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ คือ MCB, RCD, MCCB และ ACB แต่ละประเภทจะแตกต่างกันทั้งในด้านการออกแบบ ขนาด รูปร่าง เพื่อให้เข้ากับลักษณะการใช้งานที่หลากหลาย

1. MCB (Miniature Circuit Breakers) หรือที่เรียกกันว่าเบรกเกอร์ลูกย่อยหรือลูกสกิต เป็นเบรกเกอร์ขนาดเล็ก สำหรับใช้ในบ้านพักอาศัยหรืออาคารที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน100A มีทั้งขนาด 1, 2, 3 และ 4 Pole ใช้ได้กับระบบกระแสไฟฟ้าทั้งแบบ 1 เฟสและ 3 เฟส
การติดตั้ง
มี 2 แบบที่นิยมคือPlug-on ที่สามารถติดตั้งได้ง่ายเพียงดันตัวเบรคเกอร์เข้ากรอบที่เตรียมไว้ และแบบ Din-rail ที่ต้องใช้เครื่องมือช่างในการประกอบ ใช้ติดตั้งเป็นอุปกรณ์ป้องกันร่วมกับแผงจ่ายไฟฟ้าย่อย (Load center) หรือแผงจ่ายไฟฟ้าในห้องพักอาศัย (Consumer unit)

Miniature Circuit Breakers
Miniature Circuit Breakers

2. RCDs (Residual Current Devices) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับตัด/ป้องกันกันไฟรั่วไฟดูดอัตโนมัติตามพิกัดที่กำหนดไว้ ก่อนติดตั้งเครื่องต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าได้เดินสายดินหรือสายกราวด์เรียบร้อยแล้ว
RCD มีอุปกรณ์อยู่หลัก ๆ 2 ตัวคือ

  1. RCCB (Residual Current Circuit Breaker) ทำหน้าที่ป้องกันไฟรั่ว ไฟดูด แต่ไม่สามารถตัดกระแสลัดวงจรได้ จะใช้คู่กับ MCB, MCCB
  2. RCBO (Residual Current Circuit Breaker with Overcurrent Protection) จะตัดวงจรเมื่อเกิดไฟรั่ว ไฟดูด รวมถึงป้องกันกระแสเกินและกระแสลัดวงจรด้วย เปรียบเสมือนการนำเมนเบรกเกอร์ กับ RCCB มารวมเข้าด้วยกัน
RCD เบรกเกอร์กันดูด
RCCB, RCBO 2Pole และ RCBO 1Pole

3. MCCB (Molded Case Circuit Breakers) คือเบรกเกอร์ที่ใช้เป็นสวิตช์เปิด-ปิดวงจรไฟฟ้า รวมถึงตัดกระแสไฟฟ้าเมื่อมีไฟรั่วหรือลัดวงจร ใช้กับกระแสไฟตั้งแต่ 100-2,300A แรงดันไม่เกิน1,000โวลต์ นิยมติดตั้งในตู้ไฟฟ้า (Local panel) สำหรับอาคารขนาดใหญ่หรือโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากสามารถทนกระแสลัดวงจรหรือค่า kA

ซีเมนส์ MCCB
MCCB (Molded Case Circuit Breakers)

4. ACB (Air Circuit Breakers) เป็นเบรกเกอร์ขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม Low Voltage ทนกระแสไฟฟ้าได้สูงสุดถึง6,300A นิยมใช้งานเป็นเมนเบรกเกอร์ในโรงงานกับงานแรงดันสูง (HVAC) ติดตั้งในตู้ MDB ต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่อง สามารถเพิ่มอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ ต่างจาก MMCB ที่เพิ่มอุปกรณ์ไม่ได้

ACB ซีเมนส์
ACB (Air Circuit Breakers)

วิธีเลือกเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker)
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าระบบไฟฟ้าในประเทศไทยจะเป็นแบบ 1 เฟส (สำหรับที่พักอาศัย) และ 3 เฟส (สำหรับโรงงานหรืออาคารพาณิชย์) การเลือกเซอร์กิตเบรกเกอร์ให้เหมาะสมกับงานที่ใช้จึงต้องดูที่ (1) จำนวน Pole ที่จะเป็นตัวบ่งบอกว่าเบรกเกอร์ที่ใช้นั้นเป็นชนิด 1 เฟส หรือ 3 เฟส และ (2) ค่าพิกัดกระแสซึ่งจะบ่งบอกถึงค่าจำกัดในการใช้งานของเซอร์กิตเบรกเกอร์

  1. จำนวน Pole แบ่งออกเป็น 4 ชนิดดังนี้
    • 4 Pole – เซอร์กิตเบรกเกอร์สำหรับระบบ 3 เฟส ป้องกันสาย line และสาย neutral เหมาะสำหรับระบบที่ต้องการความปลอดภัยสูง เพราะสามารถป้องกันได้ทั้ง 4 เส้นหากระบบไฟฟ้าเกิดความผิดปกติ
    • 3 Pole – เซอร์กิตเบรกเกอร์สำหรับระบบ 3 เฟส ป้องกันสาย line อย่างเดียว นิยมใช้ในอาคารพาณิชย์และโรงงานอุตสาหกรรม
    • 2 Pole – เซอร์กิตเบรกเกอร์สำหรับระบบ 1 เฟส ป้องกันสาย line และสาย neutral มักใช้เป็นเมนเบรกเกอร์ในตู้คอนซูมเมอร์ยูนิต มีทั้งแบบ MCB และ MCCB
    • 1 Pole – เซอร์กิตเบรกเกอร์สำหรับระบบ 1 เฟส ป้องกันสาย line อย่างเดียว ส่วนใหญ่จะเป็นเบรกเกอร์ลูกย่อยที่ใช้ร่วมกับตู้คอนซูมเมอร์ยูนิต มักใช้ในบ้านพักอาศัย
  2. ค่าพิกัดกระแสที่ควรทราบมีดังนี้
    • Interrupting Capacitive (IC) – พิกัดการทนกระแสลัดวงจรสูงสุดโดยปลอดภัยของเบรกเกอร์นั้น ๆ มักแสดงในหน่วย kA (กิโลแอมแปร์)
    • Amp Trip (AT) – หรือที่เรียกว่า แอมป์ทริป คือค่ากระแสที่เบรกเกอร์เริ่มทำงาน เป็นตัวบอกให้รู้ว่าเบรกเกอร์ตัวนั้นสามารถทนต่อกระแสในภาวะปกติได้สูงสุดเท่าใด เช่น เบรกเกอร์ที่มีค่าแอมป์ทริป 100A เมื่อกระแส 0-100A ไหลผ่าน เบรกเกอร์จะไม่ทริป แต่หากมีกระแส 130A คงที่ไหลผ่าน เบรกเกอร์จะทริปภายในเวลา 2 ชั่วโมง
    • Amp Frame (AF) – พิกัดกระแสโครง หมายถึงพิกัดการทนกระแสสูงสุดของเบรกเกอร์นั้น ๆ เซอร์กิตเบรกเกอร์ที่มีขนาด AF เดียวกันจะมีขนาดมิติ (กว้างXยาวXสูง) เท่ากัน สามารถเปลี่ยนพิกัด Amp Trip ได้โดยที่ขนาด (มิติ) ของเบรกเกอร์ยังคงเท่าเดิม

หากคุณมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกซื้อเซอร์กิตเบรกเกอร์ บี.กริม เทรดดิ้ง เรามีทีมงานมืออาชีพที่คอยให้คำปรึกษา เราเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าจากซีเมนส์ มั่นใจได้ถึงความปลอดภัย ทนทาน ประหยัดพลังงาน รวมถึงบริการทั้งก่อนและหลังการขายอย่างครบวงจรโดยพนักงานมืออาชีพ ติดต่อเราได้เลย ที่นี่

สอบถามข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมได้ที่
https://bgrimmtrading.com/contact-us/
อีเมล: [email protected]
เบอร์โทรศัพท์ : +66 (0) 2710 3000
Line Official Account :  https://lin.ee/ItAW7DS  @bgrimmtrading

เรื่องล่าสุด